ประกาศ แจ้งสถานศึกษา ดำเนินการจัดทำ/ปรับปรุง ระบบข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center : DMC) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ขอบคุณค่ะ


กลับหน้ารวมบทความทั้งหมด

 คุยด้วยเพลง สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องเพาะช่าง (3)



image


รายละเอียดเพิ่มเติม
     
พงษ์ชัย ไทยวรรณศรี


            อีกเรื่องหนึ่ง ในหนังสือ “สุเทพโชว์ คอนเสิร์ตรอบโลกแห่งความรัก” ที่นำมาบทความเก่าซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘  ซึ่งขณะ สุเทพ วงศ์กำแหงกำลังเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการเพลง  ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียน ตอน

“สุภาพบุรุษเสียงทุ้ม สุเทพ วงศ์กำแหง”


            ดาวนักร้องกลุ่มหนุ่มในฟากฟ้าศิลปินนักร้องไทย ขณะที่เขียนเรื่องนี้ มีอยู่ไม่กี่ดวงที่รุ่งโรจน์จรัสแสงอย่างรวดเร็ว ประชาชนคนฟังดนตรีและการขับร้องไม่เลือกว่าจะโดยทางแผ่นเสียง ทางวิทยุกระจายเสียงหรือการแสดงบนเวทีในรายการแสดงพิเศษตามโรงภาพยนตร์ ซึ่งกำลังนิยมจัดทำกันอยู่ หากได้ปรากฏน้ำเสียงหรือร่างของนักร้องกลุ่มนี้ก็พากันนิยมชมชื่นตั้งอกตั้งใจฟังกันอย่างจริงจังทุกครั้งทุกคราว…. บางทีคุณคงรู้จักศิลปินหรือดาวนักร้องกลุ่มนี้เป็นอย่างดีแล้ว พ้นจากชรินทร์  งามเมือง นริศ  อารีย์ และปรีชา  บุณยเกียรติ เขาอีกคนก็คงไม่ใช่ใครอื่น ที่แท้ก็คือ สุเทพ  “รักคุณเข้าแล้วเป็นไร” วงศ์กำแหง นั่นเอง…


            ดวงชะตาของสุเทพ  วงศ์กำแหง ก็ดูจะคล้ายๆกับศิลปินนักร้องอีกหลายๆ คน ซึ่งไม่ค่อยสมหวังในความมุ่งหมายที่ตั้งปณิธานไว้แต่เดิมๆ กล่าวคือเมื่อเรียนหนังสืออยู่ ตั้งใจไว้อย่างหนึ่งสำหรับการดำเนินชีวิตในอนาคต แต่เมื่อถึงคราวจริงจังเข้า กลับไพล่ๆ เผลๆ ไปอีกทางหนึ่งจะทึกทักเอาว่าวันชาตะของเขาคือวันศุกร์ ที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๗๖ แล้วถิ่นกำเนิด นครราชสีมา เป็นมูลฐานก่อให้เกิดความผันแปรไปเช่นนั้นก็ไม่มีใครกล้ายืนยัน เพราะเรื่องเกี่ยวแก่ชะตาชีวิตหรือโชควาสนานั้น เราๆ ท่านๆ มักจะเบี่ยงบ่ายไป ให้เป็นภารกิจของ “พระพรหม” กันเสียร่ำไป ตกลงว่า อดีตก็ดี ปัจจุบันก็ดี และอนาคตก็ดี ของใครๆ จะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่แก่ “พระพรหม” ทั้งสิ้น

            สุเทพมีพี่สาวคนหนึ่ง แต่เขาไม่มีน้อง ไม่เลือกว่าจะเป็นหญิงหรือเป็นชาย พออายุเข้าขีดที่จะเรียนหนังสือ สุเทพก็เข้ารับการศึกษาจากโรงเรียน ที่ทำการสอนโดยคณะบาทหลวงในคริสต์ศาสนา เริ่มตั้งแต่อยู่ในชั้นอนุบาลไปจนจบประถมปีที่ ๔ ขณะนั้นอายุยังน้อยอยู่ จึงเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยม ณ โรงเรียนราชวิทยาลัยอีก และสอบได้ชั้นมัธยมปีที่ ๖ อายุครบ ๑๗ พอดี

            ระหว่างการศึกษา สุเทพมีจิตใจฝักใฝ่ในทางวาดเขียน เคยคิดเคยฝันที่จะได้เป็นจิตกร ซึ่งมีฝีไม้ลายมือชื่อเสียงดีเด่นสักคนหนึ่ง อาศัยจากมีมัธยม ๖ “เป็นทุน” อยู่แล้วอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่ง เพราะมีความรักใคร่สนใจกับเรื่องขีดๆ เขียนๆ อยู่แล้ว สุเทพจึงเดินทางเข้าสู่กรุงเทพพระมหานคร และสมัครเข้าศึกษาในโรงเรียนเพาะช่าง อันเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้สร้างสรรค์ศิลปินสาขาต่างๆ ออกไปแล้วเป็นจำนวนมาก

            ในระยะการศึกษาของสุเทพที่ “เพาะช่าง” นี้ เข้าใจว่า “พระพรหม” ท่านก็คงจะทรงประสิทธิ์ประสาทพระพรให้ เพราะสุเทพเรียนได้เป็นอย่างดี กระทั่งจบเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ ประกาศนียบัตรแสดงคุณวุฒิ ถูกสุเทพนำอย่างถะนุถนอมไปแสดงขอสมัครเข้าทำงาน ณ ร้านทำแม่พิมพ์ “แสงนภาบล็อก” และก็ได้ประสบการต้อนรับจากร้านนี้ด้วยดี

การเริ่มสร้างงานละครวิทยุ

            ขณะทำงานอยู่ ณ “แสงนภาบล็อก” นี่เอง จากเสียงที่เย้ายวนทางวิทยุอยู่เนืองๆ ทำให้สุเทพเกิดมีอารมณ์ฝันขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็เริ่มงานตามอารมณ์ฝันนั้นโดยไม่ชักช้า นั่นคือ การเริ่มสร้างงานละครวิทยุด้วยการร่วมมือร่วมใจกับเพื่อนรักสนิทคนหนึ่งชื่อ บุญสร้าง เอกสุภาพรรณ

            งาน “ละครวิทยุ” ของสุเทพ ทำท่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ทั้งนี้เพราะเขากับเพื่อนได้มีโอกาสนำละครวิทยุไปออกอากาศได้บ่อยๆ ตัวของเขาเองก็ร่วมแสดงด้วยในบทต่างๆ ตามท้องเรื่องที่ผูกขึ้น และในบางเรื่อง บางครั้ง สุเทพจะต้องร้องเพลงประกอบเรื่องในการออกอากาศนั้นด้วย สุเทพพยายามฝึกการร้องเพลงด้วยตนเอง อยู่เกือบตลอดเวลาที่ง่วนอยู่กับงานเขียนของเขา จนกระทั่งเพื่อนๆ ของเขาพากันกระเซ้าแกมถากถางว่า

            “โธ่เอ๊ย น้ำหน้าอย่างลื้อน่ะรึ จะป็นนักร้อง ? อย่าเลยว้า…สุ้มเสียงยังกะฆ้องแตก ไส้จะเป็นน้ำเหลืองเสียเปล่าๆ”

            แทนที่สุเทพจะฉุนเฉียวต่อคำกระซ้าเย้ายวนแกมเหยียดหยามเขากลับมุมานะ ต้อนรับคำสบประมาทเหล่านี้ด้วยอารมณ์เย็น สุเทพถือว่ามันเป็นยาเสริมกำลังน้ำใจขนานเอก ทำให้เกิดความพากเพียรยิ่งขึ้นกว่าวันก่อนๆ ..ต่อจากนั้นไม่ช้านัก บุญสร้างเพื่อนคู่หูคู่ใจของเขาก็ต้องจากไปศึกษาวิชาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ก่อนจะจากไป สหายคู่นี้ต่างให้คำมั่นสัญญากันไว้ว่า ต่างคนต่างจะพยายามสร้างชื่อเสียงของตนให้ดียิ่งขึ้นไปกว่าที่กำลังจะดีอยู่แล้วในทุกวันนี้

    

            แม้คำสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน อาจเป็นคำสัญญาที่เกิดขึ้นด้วยอารมณ์ชั่วแล่นของเด็กหนุ่มก็ตาม ทว่าความซาบซึ้งในมิตรภาพของกันและกัน มีมากเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดถึง “คำมั่นสัญญา” ครั้งสุดท้ายก่อนจากกันไปคนละทวีป คงกึกก้องอยู่ในสมองและความทรงจำของสุเทพไม่มีวันลืมเลือน เขาก้มหน้าก้มตาดำเนินงานที่กำลังดำเนินอยู่ด้วยความเข้มแข็งทะมัดทะแมง ซึ่งต่อมาไม่นาน สุเทพก็ได้พบกับไศล ไกรเลิศ นักสร้างเพลงที่มีชื่อเสียงกึกก้องผู้หนึ่ง ไศลได้ให้ความเอ็นดูฝึกสุเทพอยู่ปีเศษ เห็นว่าพอจะปล่อยให้ “บินเดี่ยว” ได้แล้ว ก็จัดส่งให้เข้าร่วมเป็นนักร้องอยู่ในคณะ เพลงแรกที่สุเทพร้องในคณะไศล ไกรเลิศ คือเพลง “ชมละเวง” ซึ่งจัดเข้าร้อง สลับรายการละคร เรื่อง “เลือดนรสิงห์” ณ ศาลาเฉลิมไทย

            เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ หาก “แปลกแต่จริง” น้ำเสียง ทำนอง และเนื้อร้องที่ผ่านริมฝีปากของสุเทพออกไป แม้จะเป็นครั้งแรกนั้น… ขลังและศักดิ์สิทธิ์ราวกับมนต์สะกด ..บรรดาผู้ฟังนับพันเงียบกริบ แล้วจึงเกรียวกราวขึ้นด้วยเสียงปรบมือก้องไปทั่วเฉลิมไทยเมื่อเสียงเพลงท่อนสุดท้ายจางไปในอากาศ

            สุเทพตื้นตันใจจนน้ำตาคลอ เขาก้มศีรษะรับเกียรติจากประชาชนด้วยความอ่อนน้อมคาราวะ เดินเข้ากลับไปโดยที่เกือบจะไม่รู้สึกตัวเพราะเสียงปรบมือยังก้องกังวานอยู่หนาแน่น… จากการร้องเพลงโดยปรากฏตัวครั้งนี้เอง ชื่อเสียงของสุเทพก็ผลุดพุ่งขึ้นราวกับจรวด..

ความมีชื่อเสียงรวดเร็วราวกับสายฟ้า

            อยู่ร่วมงานในคณะของไศลไม่ช้านานนัก ไศลก็เพลามือในงานของเขาลง สุเทพจึงอำลาไปอยู่ในวงดนตรี “กาญจนศิลป” ซึ่งสมาน  กาญจนะผลิน ได้จัดตั้งขึ้น

            ความมีชื่อเสียงรวดเร็วราวกับสายฟ้า ทำให้สุเทพมี “แฟนสนใจในตัวเขามากขึ้น จนปรากฏว่าในขณะนี้ ถ้ามีสุเทพคนนี้ไปร้องออกอากาศ ณ สถานีใด เจ้าหน้าที่โทรศัพท์ของสถานีนั้น ก็มีงานมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยต้องคอยติดตามตัวสุเทพมาให้พูดโทรศัพท์กับบุคคลภายนอกที่ติดต่อมา บางรายขอให้สุเทพร้องเพลงนั้น เพลงนี้ บางทีก็หาเรื่องชวนพูดชวนสนทนาทางโทรศัพท์ และบางรายขอให้สุเทพร้องเพลงให้เธอฟังเป็นพิเศษโดยเฉพาะทางโทรศัพท์ก็มี

            เกี่ยวกับ “นางในฝัน” สุเทพออกตัวว่าเขาจนและเจียมตัว ไม่อยากจะรักใครให้เป็นการทรมานจิตใจของคนรักของเขาเปล่าๆ

            “ไอ้ชอบน่ะชอบเหมือนกันแหละ” สุเทพว่า  “แต่ชอบชนิดที่สวยเรียบๆ ไม่ใช่สวยด้วยวิทยาศาสตร์ ข้อสำคัญควรจะเป็นบ้างในเรื่องการเรียนอันเป็นหน้าที่ของแม่บ้านหรือลูกผู้หญิง แต่ชนิดที่หึงๆ ขวางๆ นั้นไม่อยากรับประทานนะครับ”

            วันที่เขียนเรื่องนี้ ( ๑ มิถุนายน ๒๔๙๘) สุเทพอยู่ในระหว่างเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร ประจำอยู่ในกองดุริยางค์ทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆส่วนบ้านพักอยู่ ณ บ้านเลขที่ ๑๕๙ หลังวัดสังเวชวิทศยาราม (วัดบางลำพู) จังหวัดพระนคร …”


            ครูสง่า อารัมภีร  ศิลปินแห่งชาติ  เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ สุเทพ วงศ์กำแหง  เข้ามาเป็นนักร้องว่า ในหนังสือ “๔๐ ปี คอนเสิร์ตชีวิต สุเทพ วงศ์กำแหง”  ว่า

            “สุเทพ  วงศ์กำแหง เรียกข้าพเจ้าว่า…พี่แจ๋ว…มิใช่ลุงแจ๋ว

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔-๙๕ คณะละครศิวารมณ์ซ้อมอยู่ที่ชั้นบนของห้องถ่ายรูป ชาติพงค์ ติดๆ กับ วาย.เอ็ม.ซี.เอ. วรจักร… บ่ายวันศุกร์ประดานักประพันธ์ชื่อดังทั้งหลาย อาทิ…ยาขอบ…เวทางค์..อาษา..หม่อมหลวงต้อย ชุมสาย..ครูเหม  เวชกร..นายรำคาญ..จำนง  หิรัญรัชต์ และ ฯลฯ ก็มาชุมนุมดื่มเหล้า..เบียร์และอาหารกันอยู่ที่บริเวณด้านหน้าของบ้านชาติพงศ์ ซึ่งเจ้าของบ้านชื่อคุณประชุม ชาติบุตรทั้งหญิงชายเป็นผู้ต้อนรับขับสู้ คณะนักเขียนกลุ่มนี้รับสุราอาหารกันตั้งแต่เย็นศุกร์ไปจนเย็นเสาร์จึงแยกย้ายกลับบ้าน บางคนอยู่ต่อไปจนเย็นอาทิตย์ก็มี ส่วนข้าพเจ้าและเวทางค์ ร.ต.ทองอิน บุญยเสนา หรือ ลุงผี ของเด็กๆ หลับนอนอยู่ที่บ้านนี้จนวันจันทร์ก็ทำงานแต่งเพลงและซ้อมละครไป ถึงเย็นวันศุกร์ก็เวียนมาเช่นนี้จนครบปี ๒๔๙๔-๒๕๙๕…..

            …เอก สุภาพันธ์ นำหนังสือนี้มาให้ข้าพเจ้า ๑ เล่ม พร้อมกับนำหนุ่มน้อยหน้าตาคมคายมาแนะนำให้รู้จัก เขาคือ “สุเทพ วงศ์กำแหง” นักร้องและพระเอกละครเพลงวิทยุซึ่งเอกเป็นเจ้าของคณะเขาบอกว่า “อิงอร” ให้พามารู้จักกับนักแต่งเพลงละครศิวารมณ์ สุเทพไหว้แล้วเรียกผมตามเอกว่า “พี่แจ๋ว” มาแต่วาระโน้น เขาบอกว่า เรียนจบจาก “เพาะช่าง” เขียนรูปทำบล็อกอยู่กับร้านเจ๊กแถวๆ วงเวียน ๒๒ กรกฎาคม รายได้น้อยเหลือเกินจึงหันมาหัดร้องเพลงกับ “พี่ไศล ไกรเลิศ” ที่อยู่กับสุทิน เทศารักษ์ แถวๆ ที่แยกพญาไท…

            “เอก” เค้าทำละครวิทยุแสดงที่ ๑ ป.ณ. เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า จะเล่นแล้วยังหาโฆษณาไม่ได้เลย

            “อดทนต่อไปเถิด ทั้งเอกทั้งสุเทพ…เราเวลานี้มีรายได้ทางเดียวคือแต่งเพลงให้ละครเวที อัตคัตเต็มทีเย็นลงต้องล่อแต่ “ยองดา” แปลว่า “เหล้ายาดอง” …พูดปลอบใจ

            จากนั้นก็ได้พบกับสุเทพบ่อยๆ เพราะตามพี่ไหลของเขาไปร้องเพลงหมู่ เพลงรำวง ที่ห้องอัดเสียง อี.เอ็ม.ไอ. ซึ่งอยู่ที่หน้าศาลาเฉลิมไทยบ่อยๆ กระทั่งโอกาสหนึ่งที่ผมจัดเพลงบันทึกเสียงให้ ลุงเตียง โอศิริ แห่งแผนกแผ่นเสียงของ บริษัท กมลสุโกศล จำกัด ครั้งนั้นตกลงจะให้ “ปรีชา บุณยเกียรติ” ร้อง ๖ เพลง ถึงเวลา ๑๐.๓๐ น.แล้ว ปรีชาก็ยังไม่มา ห้องอัดเสียงพร้อม ไม่ว่าไปร้องเพลงต่างจังหวัดหรือเปล่า เจ้าออดคนนี้เขาโด่งดัง เสียงก็ดีแสดงละครเป็นพระเอก รูปก็หล่อ แม่ยกติดกันเกรียวกราว

            “ไศล” หนีบแฟ้มเพลงมาหาลุงเตียง สุเทพเดินตามมา ผมก็เลยเสนอลุงเตียงว่า “เอาสุเทพนี่แหละร้องแทนปรีชา ๒ เพลง”…

            “ไหวเร้อ”..ลุงเตียงค้านแล้วไอโขลกๆ

            “ไหวซีลุง เพราะสุเทพกำลังถูกคุณเทวมิตร์ กุญชร นายทุนจะให้แสดงเป็นพระเอกหนังเรื่อง สวรรค์มือ คู่กับนางสาวเชียงใหม่ “สืบเนื่อง กันภัย” หนังเข้าฉายเมื่อไหร่แผ่นเสียงของเราออกจำหน่ายเป็นขายดีเมื่อนั้น

            “แล้วสองเพลงที่จะให้อัดนี่ จะเข้าอยู่ในหนังหรือเปล่า” นายทุนลุงเตียงมองเห็นสายเงินไหลเข้าบริษัท

            “ถ้าเป็นเพลงในหนัง ราคาค่าเพลงจะ ๓๕๐ บาท ทั้งค่าบรรเลง ค่าขับร้อง ค่าแต่ง ค่าประสานเสียงก็ต้องพูดกันใหม่ซีลุง ราคาเก่ามันจะยุติธรรมหรือ?…

            เอาเป็นว่า…เป็นอันตกลง.. ไปต่อเพลงได้ ๒ เพลงให้เสร็จในเที่ยงนี้นา ลุงเตียงว่าแล้วก็หันไปทางพี่ไศล ผมก็คว้ามือสุเทพเข้าไปที่เปียโน ต่อเพลงทันทีแล้ว ๒ เพลงก็เสร็จทันเที่ยง..และสุเทพได้ค่าร้องเพลงละ ๑ ชั่ง ๘๐ บาท เท่านั้น สมัยโน้นเงิน ๑ ชั่ง ซื้อสร้อยทองรูปพรรณหนัก 1 บาทได้สบายแล้วสมัยนี้ทำไมทองมันถึงขึ้นไปบาทละตั้ง ๔ พัน ๕ พัน…ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ไปได้ขอรับกระผม…”


สุเทพ วงศ์กำแหง เขียนถึงความรู้สึก

            “จากใจสุเทพ  วงศ์กำแหง

             ท่านที่เคารพ

            …พระคุณของครูที่ผมเอ่ยนามมาทั้งหมดนั้นเป็นพระคุณที่ผมไม่สามารถลืมได้ในชีวิต ท่านเป็นผู้ที่ทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยนไป จากเด็กบ้านนอกคนหนึ่งมาเป็นคนของประชาชนคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์จริงๆรับใช้ประชาชนอย่างคุ้มค่าที่ได้เกิดมาในผืนแผ่นดินอันยิ่งใหญ่แห่งนี้ ทำให้ผมมีความภาคภูมใจและซาบซึ้งในความเป็นคนไทยของผมจนไม่สามารถว่าจะหาคำบรรยายใดมาบรรยายให้ท่านเห็นพ้องไปกับผมได้

            วันเวลาที่เหลืออีกไม่มากนัก นับแต่นี้ไป ผมก็จักพยายามทำแต่ประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และจะกระทำในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะด้านดนตรีหรือการขับร้องซึ่งจะต้องน้อยลงไปตามอายุและสังขารแต่สิ่งหนึ่งซึ่งยังเป็นประโยชน์ต่อมวลชนก็คือร่างกาย หากร่างกายของผมยังอยู่ ผมก็จะทำงานเพื่อประชาชนของผมต่อไป และเมื่อชีวิตผมสิ้นไป

            ขอบคุณเพื่อนพี่น้องชาววัฒนธรรมแห่งชาติที่ได้ยื่นมือเข้ามาทำให้ความฝันเป็นความจริง

            ขอบคุณผู้รักความจริงและความเป็นธรรมทั้งมวล

            และ..ขอบพระคุณอย่างสูงยิ่ง   แด่.. “ชาติ ศาสน์  กษัตริย์”

นี่คือ เรื่องราวของ สุเทพ วงศ์กำแหง ศิษย์เพาะช่าง ศิลปินแห่งชาติผู้อยู่ในหัวใจของนักฟังเพลง ปูชนียบุคคลซึ่งเป็นเสาหลักของวงการเพลงไทยสากลของไทยมา…”


 สั่งพิมพ์หน้านี้
 ดาวน์โหลดไฟล์แนบ
ข้อมูลข่าววันที่: 9 มีนาคม 2563
ผู้อ่าน: 1,186 คน

  ผู้บริหารหน่วยงาน  



นายรังสรรค์ คำชาย

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1
  บริการข้อมูล  
   
  ข้อมูลสารสนเทศ  
   
  กลุ่มงาน สพป.พิษณุโลก ๑  
   
  ข้อมูลพื้นฐาน  
   
  แผนปฏิบัติการ  
   
  คู่มือการให้บริการ  
   
  การใช้จ่ายงบประมาณ  
   
  การจัดซื้อจัดจ้างหรือการจัดหาพัสดุ  
   
  การบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล  
   
  การดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริต  
   
  การประเมินความเสี่ยงการทุจริต  
   
  แผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริต  
   
  มาตรการภายในเพื่อการป้องกันการทุจริต  
   
  ข้อมูล สพป.พิษณุโลก เขต 1  
   
  คู่มือปฏิบัติงาน  
   
  ระบบ eMENSCR  
   
  E-Service  
   
  ITA2024  
   
  คู่มือหรือแนวทางการให้บริการสำหรับผู้รับบริการหรือผู้มาติดต่อ  
   
  เชื่อมโยงลิงค์อื่นๆ  
 
  เว็บไซต์โรงเรียน  
 
  กระทรวงสาธารณสุข  
 
  เฟสบุ๊ค แฟนเพจ  
 

 
  สถิติผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์  
 

 
  พยากรณ์อากาศ  
 

 

จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์